เส้นทางการย้ายถิ่น


นก แต่ละชนิดเลือกเส้นทางและช่วงเวลาบินต่างกัน นกขนาดเล็ก เช่น นกกินแมลงมักบินอพยพในช่วงกลางคืน เพราะอากาศคงที่ อุณหภูมิต่ำช่วยลดการสูญเสียพลังงานได้มากและช่วยให้ปลอดภัยจากศัตรูโดยใช้ เวลากลางวันพักหาอาหาร ส่วนนกขนาดใหญ่ เช่น นกอินทรี นกกระสา จะบินอพยพในตอนกลางวันและพักในตอนกลางคืน นอกจากนี้มีนกหลายชนิดที่บินอพยพทั้งกลางวันและกลางคืน
นก มักบินอพยพไปพร้อมกันเป็นฝูง เช่น นกชายเลน นกเป็ดน้ำ แม้กระทั่งนกที่ชอบอยู่ตามลำพังอย่าง นกกระสาหรือเหยี่ยว จะรวมกันเป็นกลุ่มเมื่อบินอพยพ เพราะการบินรวมกันเป็นฝูงช่วยทำให้นกหาทิศทางได้ดีกว่าบินตามลำพัง จกจะบินเกาะกลุ่มกันอย่างเป็นระเบียบ เช่น ฝูงห่านป่าจะบินรวมกันเป็นรูปตัววี ในแต่ละวันนกบินอพยพเป็นระยะทางมากกว่า 400 กิโลเมตร ทุกปีนกหลายล้านตัวจึงบินอพยพเป็นระยะทางไกลด้วยเส้นทางไกลด้วยเส้นทางเดิม เส้นทางที่นกเลือกต้องมีสภาพพิ้นที่ที่อุดมสมบูรณ์และเอื้อประโยชน์ต่อการ ย้ายถิ่นของนกแต่ละชนิดต่างกันไป เช่น นกชายเลนจะบินย้ายถิ่นไปตามแนวชายฝั่ง เพื่อแวะพักหาอาหารไปตลอดทาง สำหรับนกที่มีขนาดใหญ่ เช่น นกกระสาหรือนกอินทรีจะต้องบินไปตามแผ่นดินเสมอเพื่อใช้การลอยตัวของอากาศ ร้อนช่วยในการพยุงตัวและ ร่อนไป
มี ข้อสรุปมากมายเกี่ยวกับเส้นทางบินของนก นักปักษีวิทยาหลายคนอ้างถึงการมีส่วนช่วยของสัญชาตญาณหรือกรรมพันธุ์ แต่ก็ยังไม่มีใครพิสูจน์ได้แน่ชัด มีเหตุผลกล่าวอ้างว่า นกใช้การสังเกตดวงจันทร์หรือดวงอาทิตย์เป็นเครื่องกำหนดทิศเช่นเดียวกับเข็ม ทิศหรือ นกอาจใช้สนามแม่เหล็กในการหาทิศทางหรือใช้วิธีจำกลิ่นไอของเส้นทาง แต่เหตุผลที่ยอมรับกันมากที่สุดบอกว่า นกบินตามเส้นทางเดิมได้ถูกต้องโดยใช้การจำทิศทางโดยอาศัยชายฝั่ง แนวเทือกเขา และแม่น้ำเป็นเครื่องหมายแทนแผนที่ และนกวัยอ่อนคงจดจำตามนกที่โตกว่า ดังนั้นนกส่วนใหญ่จึงมักอพยพรวมกันเป็นฝูง เพื่อช่วยในการหาทิศทาง แต่ในบางครั้งอาจมีนกบางส่วนหลงไปจากพื้นที่เดิมจนไปถึงแหล่งใหม่ ซึ่งเป็นเหตุให้เราพบนกชนิดใหม่ในประเทศไทยได้เป็นประจำในช่วงที่นกย้ายถิ่น
นัก ปักษีวิทยามีความ พยายามที่จะศึกษาเส้นทางการบินอพยพของนกกันอย่างกว้างขวาง เพื่อที่จะได้ทราบถึงสภาพพื้นที่ที่นกเลือกบินผ่านว่า มีความสมบูรณ์และเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างในแต่ละปีเพื่อนำข้อมูลที่ได้มา ใช้สำหรับการศึกษาหาแนวทางในการอนุรักษ์นกเหล่านั้น วิธีการศึกษาเส้นทางอพยพของนกมีหลายวิธีต่างกันออกไป ตั้งแต่การนับจำนวนนกที่บินผ่านดวงจันทร์ เพื่อบันทึกเวลาและทิศทางบินวิธีติดตั้งวิทยุเป็นวิธีที่ได้ผลอย่างหนึ่ง แต่ต้องใช้เงินลงทุนสูง เทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างเรดาห์ก็ถูกนำมาใช้เพื่อตรวจสอบจำนวน ทิศทางการบินแม้จะได้ผลค่อนข้างดี แต่ก็มีข้อเสียตรงที่ไม่อาจแยกจำนวนนกได้สำหรับวิธีศึกษาการย้ายถิ่นของนก ที่นิยมกันมากที่สุดคือ จับนกมาติดห่างหรือปลอกที่ขาแล้วปล่อยไปหลังจากนั้นจึงจับนกกลับมาตรวจสอบ ข้อมูลอีกครั้ง นักปักษีวิทยาชาวเดนมาร์กชื่อ เฮซ ซี ซี มอร์เตนเซน เป็นผู้นำวิธีนี้มาใช้เป็นคนแรกเมื่อปี พ . ศ . 2442 โดยสวมปลอกแหวนสังกะสีกับนกกิ้งโครงพันธุ์ยุโรปจำนวน 165 ตัว พร้อมกับสลักชื่อปีและสถานที่ไว้บนปลอก หลังจากนั้นวิธีนี้ก็ได้รับความนิยมเรื่อยมา มีการพัฒนาให้ปลอกมีน้ำหนังเบาและใส่รายละเอียดเพิ่มมากขึ้น แต่การใส่ปลอกขานกมีข้อเสียคือ มักเก็บนกที่ใส่ปลอกกลับคืนมาได้น้อย จึงต้องใส่ปลอกขาเป็นจำนวนมาก ถึงจะมีโอกาสจับกลับคืนมาได้สูง
ประเทศ ไทยอยู่ในแถบอบอุ่นบริเวณเส้นศูนย์สูตร มีสภาพอากาศในแต่ละฤดูกาลไม่แตกต่างกันมากนัก ทำให้มีอาหารสมบูรณ์ให้นกนานาชนิดได้หากินดำรงชีวิตอย่างสบายตลอดปี ในจำนวน 960 ชนิดที่พบในประเทศไทย มีจำนวน 1 ใน 3 เป็นนกอพยพย้ายถิ่นเข้ามา สำหรับนกที่อพยพเข้ามายังประเทศไทยเป็นกลุ่มนกที่บินมาจากไซบีเรีย มองโกเลีย จีน และเกาหลี พวกนกที่กินแมลง ส่วนใหญ่บินจากป่าสนไทก้าในไซบีเรีย มีนกกระจิ๊ดบางชนิดบินมาไกลจากยุโรป ส่วนนกเป็ดน้ำและนกชายเลนยินมาจากเขตทุนดราตอนเหนือของรัสเซีย ซึ่งเราจะพบนกอพยพเหล่านี้กระจายหากินอยู่ในภูมิประเทศที่แตกต่างกันออกไป เช่น ป่าไม้ หนองบึง บนยอดดอย ชายทะเล หรือแม้กระทั่งในเมืองและตามท้องทุ่ง ช่วงย้ายถิ่นของนกเป็นโอกาสให้นักดูนกสามารถพบนกชนิดใหม่ต่างไปจากนกประจำ ถิ่นที่เคยพบอยู่ตลอดปี และการได้พบนกย้ายถิ่นชนิดต่างๆ ตลอดจนสังเกตเส้นทางการบินและแหล่งอาศัยที่พบ จะทำให้เราทราบถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ อันจะนำไปสู่การร่วมมือกันอนุรักษ์พื้นที่เหล่านั้นไว้ให้คงความอุดมสมบูรณ์ พอที่นกย้ายถิ่นจะได้กลับมาอาศัยอยู่ตลอดช่วงฤดูหนาว และยังเป็นการช่วยรักษาความสมดุลให้กับธรรมชาติตลอดไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น